Wednesday, December 12, 2007

อบประคบสมุนไพรคลายหนาว


อบประคบสมุนไพรคลายหนาว


เมื่อย่างเข้าสู่ฤดูหนาว หลักในการดูแลสุขภาพ โดยทั่วไป คือ ต้องดูแลให้ร่างกายได้รับความอบอุ่น ตั้งแต่การรับประทานอาหาร เครื่องดื่ม การทำความสะอาดร่างกายตลอดจนการส่งเสริมสุขภาพอื่นๆ เพื่อบรรเทาอาการเจ็บป่วย


1. การรับประทานอาหาร ในฤดูหนาว ท่านควรเลือกรับประทานอาหารที่ร้อนปรุงเสร็จใหม่ๆ มีรสเปรี้ยวอมขมเล็กน้อยและรสเผ็ด ได้แก่ แกงส้มดอกแค แกงขี้เหล็ก แกงป่า สะเดาน้ำปลาหวาน และน้ำพริก เป็นต้น ด้วยธรรมชาติที่ปรับเปลี่ยนไปตามฤดูกาล ผักพื้นบ้านและพืชสมุนไพร ในฤดูต่างๆ ก็เปลี่ยนไป ในฤดูหนาวมักจะมี สะเดา ซึ่งมีรสขมเมื่อกินแล้วช่วยแก้ไข้ เจริญอาหาร ขี้เหล็กช่วยระบาย ดอกแค แก้ไข้หัวลม เป็นต้น ดังนั้นการเลือกรับประทานอาหารและผักพื้นบ้านที่มีอยู่ตามฤดูกาล ที่ธรรมชาติได้เปลี่ยนแปลงมาให้กับมนุษย์ได้ใช้ประโยชน์ จะเป็นทางหนึ่งให้มนุษย์ได้เลือกสิ่งที่เหมาะสมกับชีวิตเพื่อความอยู่รอด ส่วนการเลือกเครื่องดื่ม ควรจะเป็นเครื่องดื่มร้อนๆ เช่น น้ำขิง ชาสมุนไพร เพื่อช่วยให้ชุ่มคอ ลดอาการไอ แก้หวัด ช่วยให้เสมหะอ่อนขับตัวออกได้ง่าย ป้องกันการเป็นหวัดได้อีกทางหนึ่ง


2. การทำความสะอาดร่างกาย ด้วยอากาศที่หนาวเย็น การอาบน้ำควรเป็นน้ำอุ่น เสื้อผ้าที่สวมใส่ควรเป็นเสื้อผ้าที่หนา การอาบน้ำอุ่นจะทำให้ผิวแห้งง่ายกว่าอาบน้ำเย็น เพราะน้ำมันที่ผิวหนังจะถูกชะล้างออกไป รวมทั้งความชื้นของอากาศลดลง จะทำให้ผิวแห้งแตกและคัน ดังนั้นการดูแลผิวพรรณในฤดูหนาวจึงเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งสมุนไพรที่ใช้ดูแลผิวพรรณ ได้แก่ น้ำมันงา ขมิ้นชัน ผิวมะนาวและผิวมะกรูด เป็นต้น น้ำมันงา : โดยนำงาดิบประมาณ 1 ถ้วย โขลกให้ละเอียด บีบเอาน้ำมันจากงาเก็บไว้ในขวด ทาผิวเช้าและก่อนนอน น้ำมันงาจะช่วยให้ผิวชุ่มชื้น ลดอาการแห้งแตกและคัน ขมิ้นชัน : มีสรรพคุณลดอาการคัน และช่วยเกิดอาการผดผื่นตามผิวหนัง โดยนำขมิ้นชันสดมาล้างให้สะอาด โขลกให้ละเอียด บีบน้ำที่ได้ทาผิว หลังอาบน้ำ เช้า–เย็น ข้อควรระวัง สีขมิ้นจะติดตามเสื้อผ้าที่สวมใส่ ซักออกลำบาก ผิวมะกรูด : น้ำมันที่ผิวของมะนาวและมะกรูด จะช่วยเคลือบผิวให้ชุ่มชื้น ลดอาการคัน ลดการอักเสบ โดยนำมะนาวที่ใช้น้ำมะนาวแล้ว นำบริเวณผิวด้านนอกทาผิวบริเวณที่แห้งคัน เช้า-เย็น การอาบสมุนไพร การอาบน้ำอุ่นช่วยให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น ในฤดูหนาวมักจะเป็นหวัด คัดจมูก คันตามผิวหนัง การนำสมุนไพรที่มีสรรพคุณช่วยลดอาการคัน ช่วยให้หายใจโล่งมาต้มอาบแทนอาบน้ำเปล่า โดยใช้สมุนไพรที่หาง่ายมีใช้ในครัวเรือน ดังต่อไปนี้ - ยอดผักบุ้ง จำนวน 5 ยอด ใช้รักษาอาการคัน - ใบมะกรูด จำนวน 3-5 ใบ แก้วิงเวียน ช่วยให้หายใจสบาย - ใบมะขาม/ใบส้มป่อย 1 กำมือ แก้อาการคันตามร่างกายช่วยให้ผิวหนังสะอาด - ต้นตะไคร้ จำนวน 3 ต้น บำรุงธาตุไฟ แต่งกลิ่น - หัวไพล จำนวน 2-3 หัว ลดอาการอักเสบ ปวด บวม - ใบหนาด จำนวน 3-5 ใบ ช่วยบำรุงแก้โรคผิวหนัง น้ำเหลืองเสีย - หัวขมิ้นชัน จำนวน 2-3 หัว สมานแผล แก้คันตามผิวหนัง - การบูร จำนวน 15 กรัม แต่งกลิ่น บำรุงหัวใจ - หัวหอมแดง จำนวน 3-5 หัว แก้หวัดคัดจมูก นำสมุนไพรมาต้มรวมกัน ผสมน้ำเย็นให้พออุ่นอาบ จะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต ลดอาการคันตามผิวหนัง ช่วยหายใจโล่ง สบายตัว สมุนไพรดังกล่าวข้างต้น ยังสามารถนำมาเป็นสมุนไพรสำหรับอบสมุนไพรเพื่อสุขภาพได้อีกทางหนึ่ง


การอบสมุนไพรทำได้ 2 กรณี คือ


กรณีอบสมุนไพรเองที่บ้าน

1. มีตู้อบสมุนไพรสำเร็จรูป ใช้สมุนไพรใส่หม้อต้มน้ำหรือหม้อหุงข้าวไฟฟ้าแล้วใช้ไอน้ำอบสมุนไพร ซึ่งในตู้อบสำเร็จรูปจะมีที่สำหรับให้ไอน้ำผ่านได้ดี และมีการระบายอากาศด้านบน (ศรีษะ)

2. ถ้าไม่มีตู้อบสมุนไพร จะใช้เป็นกระโจม โดยหาวัสดุที่มีอยู่มาดัดแปลงแล้วใช้ผ้าคลุม โดยมีที่ระบายอากาศ ใช้หม้อต้มที่สำหรับให้ไอน้ำเข้าสู่กระโจมอย่างทั่วถึงและระมัดระวัง เรื่องน้ำร้อนลวก และระบบไฟฟ้า


การอบสมุนไพรในห้องอบสมุนไพรมาตรฐาน

ปัจจุบันมีโรงพยาบาลของรัฐจำนวน 40 แห่ง มีคลินิกแพทย์แผนไทยและมีห้องอบสมุนไพร


มาตรฐานของห้องอบสมุนไพร

1. ขนาดห้อง กว้าง 1.9 เมตร ยาว 1.9 เมตร สูง 2.3 เมตร สามารถอบได้ครั้งละ 3-4 คน

2. พื้นและฝาผนัง ควรเป็นพื้นปูนขัดหน้าเรียบ ช่วยให้ง่ายต่อการทำความสะอาด

3. ประตูห้องควรปิดมิดชิด แต่ไม่มีการล็อคกลอนจากข้างใน อาจเจาะเป็นช่องกระจก ที่สามารถมองจากภายนอกเห็นภายในห้องได้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่ดูแลสามารถตรวจสอบความปลอดภัยได้

4. ควรมีห้องอบที่แยกให้บริการ สำหรับเพศหญิงและเพศชาย

5. อุปกรณ์สำหรับการอบสมุนไพรประกอบด้วย - ม้านั่งยาว 1-2 ตัว - เทอร์โมมิเตอร์ สำหรับวัดอุณหภูมิภายในห้องอบ อุณหภูมิระหว่างอบควรอยู่ระหว่าง 42-45 องศา สามารถตรวจสอบอุณหภูมิได้ที่ภายนอกห้อง - นาฬิกาจับเวลา สามารถตั้งเวลาได้ - เครื่องชั่งน้ำหนัก วัดความดันโลหิต ปรอทวัดไข้ - หม้อต้มน้ำไฟฟ้า ที่มีซึ้งตะแกรงเติมและเปลี่ยนถ่ายสมุนไพรได้สะดวก - พัดลมดูดอากาศ - หม้ออบสมุนไพร เป็นหม้อไฟฟ้า มีระบบควบคุมความปลอดภัย มีท่อสเตนเลสจากหม้อต้มส่งไปในห้องอบ และมีระบบควบคุมป้องกันไฟฟ้า ซึ่งมีระบบควบคุมไฟหม้อต้มที่สามารถอุ่นได้ เมื่อรอการใช้และปิดเปิดไฟอัตโนมัติ ขั้นตอนการอบสมุนไพรในสถานบริการสาธารณสุขจะต้องซักประวัติโดยละเอียด ตรวจร่างกาย ชั่งน้ำหนัก วัดความดันและวัดไข้ก่อน โดยแพทย์แผนโบราณแบบประยุกต์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ดูแลหรือผู้ประกอบโรคศิลปะ เมื่อตรวจร่างกายเรียบร้อยแล้ว ผู้ที่จะอบสมุนไพรต้องอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด สวมเสื้อที่เตรียมไว้ให้ เวลาในการอบสมุนไพรครั้งแรกควรจะเริ่มจาก 30 นาที 2 ครั้งๆ ละ 15 นาที ขณะที่นั่งพักควรดื่มน้ำเปล่า (ไม่เย็น) หรือดื่มนม 1 แก้ว หลังจากอบสมุนไพรครบตามเวลา ควรนั่งพักจนกว่าเหงื่อจะแห้ง เพื่อให้ร่างกายปรับอุณหภูมิก่อนแล้วค่อยอาบน้ำ ควรอบสมุนไพรวันเว้นวันหรือสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ข้อห้ามในการอบสมุนไพร - มีไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส - เป็นโรคติดต่อร้ายแรงทุกชนิด - มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคไต โรคหัวใจ โรคลมชัก โรคหอบหืดรุนแรง - สตรีมีประจำเดือน รวมกับมีไข้ ปวดศรีษะ - มีอาการอักเสบจากบาดแผล - อ่อนเพลีย (อดนอน อดอาหาร หรือหลังรับประทานอาหารใหม่) - ปวดศรีษะ เวียนศรีษะ คลื่นไส้ ในกรณีที่มีอาการปวดเฉพาะที่ เช่น ปวดตามข้อมือ ข้อเท้า ปวดตามกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ในฤดูหนาวจะมีอาการปวดมากขึ้น การอบสมุนไพรอาจจะไม่ได้ผลมากนัก ควรใช้การประคบสมุนไพร บริเวณที่ปวดซึ่งสามารถทำได้เอง โดยใช้สมุนไพรที่คล้ายกับการอบสมุนไพร ได้แก่ - เหง้าไพล 1/2 กิโลกรัม - ผิวมะกรูด 10 ลูก - ตะไคร้บ้าน 1/2 กิโลกรัม - ใบมะขาม 1 ขีด - ขมิ้นอ้อย 1/2 กิโลกรัม - ว่านนางคำ 1/2 กิโลกรัม - ใบส้มป่อย 1/2 กิโลกรัม - เกลือแกง 60 กรัม - การบูร 60 กรัม นำสมุนไพรมาโขลกหยาบๆ รวมกัน แบ่งออกเป็น 2 ส่วนเท่าๆ กัน ห่อด้วยผ้าขาวดิบ จะได้ลูกประคบ 2 ลูก และนำมานึ่งให้ร้อน นำมาประคบบริเวณที่ปวดสลับกัน 2 ลูก เมื่อใช้แล้วให้ผึ่งแดดให้แห้ง ใส่กล่องมิดชิดเก็บไว้ในตู้เย็นใช้ได้ 5-7 วัน สังเกตสีของสมุนไพร ถ้าสีซีดแสดงว่าสมุนไพรมีสารสำคัญลดลง ถ้ามีกลิ่นเหม็นเปรี้ยวควรทิ้งไป


ข้อควรระวัง


ในการประคบสมุนไพร ในผู้สูงอายุหรือเด็กควรจะระวังเรื่องความร้อน ควรทดสอบความร้อนบริเวณผิวหนังที่หลังมือ ถ้าร้อนมากให้ใช้ผ้ารองก่อน ขณะประคบควรสังเกตสีของผิวหนัง ถ้าแดงมากแสดงว่าความร้อนสูง อาจจะพุพองได้ ในผู้ป่วยเบาหวานที่มีอาการชาตามปลายมือ ปลายเท้า ควรใช้ลูกประคบด้วยความระมัดระวัง

มากินเจกันเถอะ


ประโยชน์จากการกินเจ


ช่วยในการขับถ่ายของเสียออกได้หมด ทำให้ไม่มีสารพิษตกค้างอยู่ในร่างกาย เพราะสารอาหารที่มีคุณค่าในผักสด และผลไม้จะช่วยให้การขับถ่ายได้ดี ทั้งการย่อยก็เป็นไปตามปกติ กินอาหารผัก อาหารเจประจำ โลหิตจะถูกฟอกให้สะอาดขึ้นเรื่อยๆ เซลล์ต่างๆ ของร่างกายเสื่อมสลายช้าลง ทำให้มีอายุยืน ผิวพรรณเปล่งปลั่งผ่องใส นัยน์ตาแจ่มใสไม่พร่ามัว สุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง อีกทั้งโรคประเภทที่รุนแรงและเรื้อรังก็ไม่ค่อยมี ทั้งนี้ก็เพราะอาหารเจส่วนใหญ่จะใช้เต้าหู้ถั่วเหลือง ซึ่งนอกจากจะมีโปรตีนสูงแล้ว ยังมีไขมันน้อยกว่าเนื้อสัตว์ทุกชนิด แถมกรดไขมันที่มีนั้นยังเป็นกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย คือ กรดไลโนเลอิก ซึ่งทำหน้าที่เพิ่มความสดชื่นสมบูรณ์แก่ผิวหนัง และช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด และยังมีไนโตรเจนในรูปของ เลซิทิน ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของเซลล์ประสาท สมอง หัวใจ ไต และต่อมไร้ท่อ ส่วน เกลือแร่ นั้น ถั่วเหลืองมีเกือบจะครบถ้วน เช่นเดียวกับวิตามิน ที่โดดเด่นมากคือ วิตามิน บี 1 วิตามิน บี 2 และไนอะซิน ส่วนผลทางด้านจิตใจนั้นจะช่วยให้จิตใจสงบ เยือกเย็น สุขุม มีเมตตาจิต อารมณ์ไม่ฉุนเฉียว ซึ่งเป็นพื้นฐานเบื้องต้นในการบำเพ็ญศีลภาวนาต่อตัวเอง ครอบครัว บุตรหลาน ตลอดจนบริวารจะมีความรุ่งเรืองในชีวิต ในทางโภชนาการยังเชื่อกันว่า หากรับประทานผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองเป็นประจำจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้ร่างกาย ป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคกระดูกเสื่อมได้ รวมทั้งลดระดับคอเลสเตอรอลด้วย